>
เจาะเหตุผลทำไม นนทบุรี ถึงเป็นเมืองที่สองของคนกรุงเทพฯ
20182 Nov 03, 2020

เจาะเหตุผลทำไม นนทบุรี ถึงเป็นเมืองที่สองของคนกรุงเทพฯ

เจาะเหตุผลทำไม นนทบุรี ถึงเป็นเมืองที่สองของคนกรุงเทพฯ


นนทบุรี เมืองพี่น้องที่เติบโตควบคู่กับกรุงเทพมหานครเสมอมา จากการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) รวมไปถึงการกระจายความเจริญ ทำให้นนทบุรีในปัจจุบันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงจังหวัดปริมณฑลที่มีระยะทางใกล้กับกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังถูกวางบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองที่สองของคนกรุงเทพมหานครอีกด้วย

 

นนทบุรี เมืองที่ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City) ของประเทศ

จากการเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะของการเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีของกรุงเทพมหานคร ทำให้การพัฒนาของนนทบุรี คือการก้าวไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City) ของประเทศไทย ด้วยความเพียบพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานของการอยู่อาศัยสำหรับทุกคนในครอบครัว

 

  • สถาบันการศึกษา – นนทบุรีเป็นเมืองที่เพียบพร้อมด้านสถาบันการศึกษามากที่สุดอีกแห่งก็ว่าได้ โดยมีจำนวนสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษารวมกันถึง 224 แห่ง มีทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ ที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยไว้วางใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน อาทิ โรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า, International School Bangkok (Thailand), โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูวส์, โรงเรียนโกลบอลอิงลิช, The Country School International Kindergarten Bangkok, Magic Years International School, โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี (ราชพฤกษ์), Hampton International Pre-school, โรงเรียนอนุบาลนานาชาติมังกรน้อย, โรงเรียนสาธิตคริสเตียนวิทยา หรือ Rose Marie Academy เป็นต้น
  • ศูนย์การค้าและแหล่งไลฟ์สไตล์ – สิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ของการอยู่อาศัยในนนทบุรีอย่างศูนย์การค้าและแหล่งไลฟ์สไตล์ก็เพียบพร้อมไม่แพ้กัน โดยมีพื้นที่ศูนย์การค้าและไลฟ์สไตล์จำนวนถึง 28 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 1.79 ล้านตารางเมตร ครอบคลุมการเข้าถึงทั่วทั้งจังหวัดนนทบุรี อาทิ เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์, เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน, เอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย, เดอะวอร์ค ราชพฤกษ์, คริสตัล เอสบี, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ศรีสมาน รวมไปถึงไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง บิ๊กซี โลตัส และแม็คโคร อีกด้วย
  • โรงพยาบาล – นนทบุรีมีสถานพยาบาลที่กระจายทั่วทั้งพื้นที่ ครอบคลุมการให้บริการของประชากรทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า, โรงพยาบาลนนทเวช, โรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์, สถาบันโรคทรวงอก, โรงพยาบาลปากเกร็ด, โรงพยาบาลวิภาราม และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เป็นต้น
  • แหล่งงานสำคัญ - การเติบโตของนนทบุรี ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองแหล่งงานสำคัญอีกแห่งของกรุงเทพมหานคร ด้วยการกระจายตัวของศูนย์กลางแหล่งงาน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (Government Complex) ที่มีพื้นที่สำนักงานถึง 460,000 ตารางเมตร คาดปริมาณบุคลากรถึง 25,540 คน รวมไปถึงอาคารซอฟท์แวร์พาร์ค ศูนย์รวมสำนักงานธุรกิจด้านเทคโนโลยีและมัลติมีเดีย และคอสโมพาร์ค (อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี) ที่เป็น New town ใจกลางเมืองนนทบุรีอีกด้วย

 

นนทบุรี ในปัจจุบันที่เป็นมากกว่าเมืองที่เติบโตควบคู่กับกรุงเทพมหานคร

ตัวเลขจากประชากรแฝงของนนทบุรี ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือทางสถิติที่ช่วยชี้ชัดถึงการเป็นเมืองสำคัญที่สองของกรุงเทพได้เป็นอย่างดี โดยสถิติประชากรแฝงของประเทศไทย พ.ศ.2560 โดยสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่าในจำนวนประชากรแฝงทั้งหมดกว่า 8.07 ล้านคน (ประมาณ 11.9% ของจำนวนประชากรรวมทั้งหมด) ซึ่งหากไม่นับรวมกรุงเทพมหานครแล้ว พบว่านนทบุรี เป็นเมืองที่มีประชากรแฝงกลางวันมากที่สุด โดยแบ่งเป็นประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาทำงาน 214,000 คน และประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาเรียนหนังสือ 42,500 คน สร้างการจ้างงาน (Employment) ถึง 947,705 คนต่อปี นอกจากนั้นยังพบการเพิ่มขึ้นของ SMEs ขนาดเล็กในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2558 - 2562) มี SME ที่ลงทุนต่ำกว่า 2 ล้านบาทในนนทบุรี เพิ่มจาก 1,607 ราย เป็น 1,900 ราย 

สะท้อนว่านนทบุรีในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่เมืองที่อยู่อาศัย (Bed town) ของคนกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทของการเป็นพื้นที่แหล่งงานให้กับประเทศไทยด้วย 

การเป็นย่านแหล่งงานสำคัญ ทำให้นนทบุรีถูกมองว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพราะมี Work-Life Balance ที่สมดุล ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดนนทบุรีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบในจังหวัดนนทบุรีถึง 1,523 โครงการ และมีโครงการคอนโดมิเนียมถึง 405 โครงการ


นนทบุรี เมืองที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินสีเขียวถึง 51.75% ของพื้นที่ทั้งหมด

เมื่อเมืองการมีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในสายตาของคนเมืองจึงไม่ใช่ภาพของอาคารคอนกรีตอีกต่อไป แต่เป็นพื้นที่สีเขียวที่ช่วยให้ชุ่มชื่นหัวใจมากกว่า โดยนนทบุรีเป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ในสัดส่วนถึง 46.65% ของพื้นที่ทั้งหมด จากพื้นที่ทั้งจังหวัด 388,939.38 ไร่ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ถึง 201.304.87 ไร่ และถึงแม้ผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีที่เตรียมจะประกาศใหม่ จะมีการปรับลดพื้นที่สีเขียวเพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของเมือง แต่ก็พบว่ายังคงมีพื้นที่สีเขียวถึง 181,442.13 ไร่ หรือเป็นสัดส่วนถึง 46.65% ของพื้นที่ทั้งจังหวัดเลยทีเดียว


นนทบุรี เมืองที่ได้รับการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ช่วยยืนยันว่านนทบุรี ถูกวางบทบาทให้เป็นเมืองที่สองของกรุงเทพมหานคร ก็คือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัด ที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้นนทบุรีกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพไม่แพ้กรุงเทพฯ โดยนับตั้งแต่ปี 2559 ที่รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เส้นทางเชื่อมระหว่างนนทบุรีเกือบทั้งพื้นที่เข้าสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งมวลชนระบบรอง (Extended Radial Line) สายแรกของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการเติบโตของเมืองนนทบุรีได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและนนทบุรีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อถนนราชพฤกษ์ - ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือใต้) ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและระบายการจราจรจากถนนกาญจนาภิเษก ให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพ - นนทบุรี มีความรวดเร็วมากขึ้น สามารถเดินทางจากราชพฤกษ์มาถึงใจกลางสาทรได้ในระยะเวลาไม่ถึง 40 นาที

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในนนทบุรียังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำลังดำเนินการ ได้แก่

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี กำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปี 2564
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี อยู่ระหว่างดำเนินการ
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจบุรี ช่วงที่ 3 และ ช่วงที่ 4
  • โครงการบูรณะทางหลวงหมายเลข 3215 ตอนบางบัวทอง – ไทรน้อย
  • โครงการก่อสร้างขยายถนนชัยพฤกษ์ จาก 6 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจร พร้อมระบบระบายน้ำและทางเท้า
  • โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสนามบินน้ำ
  • โครงการต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) ช่วงถนนราชพฤกษ์ - ถนนกาญจนาภิเษก อยู่ระหว่างสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
  • โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ – ศาลายา อยู่ระหว่างสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

 

ศักยภาพของนนทบุรีที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเสมอมา ได้ลบล้างความเชื่อที่ว่า นนทบุรี เป็นเพียงแค่เมืองปริมณฑลของกรุงเทพมหานครไปแล้ว เพราะปัจจุบันนนทบุรีกลายเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี ที่สามารถมอบคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัยได้อย่างสมบูรณ์ ได้รับการส่งเสริมศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและอกชน รวมไปถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อมสำหรับทุกคนในครอบครัว เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City) อย่างสมบูรณ์